โดยปกติแกนโลกที่เอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ด้วยกัน 4 ปรากฏการณ์คือ วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox), วันครีษมายัน (Summer Solstice) , วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) และ วันเหมายัน (Winter Solstice)
การเกิดฤดูกาลต่างๆ ในโลกเรานี้ สามารถสังเกตได้จากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เนื่องจากวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์นั้นไม่ได้เป็นวงกลมพอดี ประกอบกับการที่โลกหมุนรอบตัวเองและแกนโลกเอียงเล็กน้อย ทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆขึ้น ตลอดเวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ โลกเคลื่อนที่ไปก็เอียงไปด้วย โดยจะหันขั้วโลกเหนือและใต้เข้าหาดวงอาทิตย์สลับกัน ทำให้พลังงานความร้อน จากดวงอาทิตย์ที่ตกลงบนผิวพื้นโลกในรอบปี ในแต่ละพื้นที่ไม่เท่าเทียมกัน ขั้วโลกที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะได้รับพลังงานความร้อน จากดวงอาทิตย์มากกว่า จะเป็นฤดูร้อน ส่วนขั้วโลกที่หันออกจากดวงอาทิตย์ จะได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์น้อยกว่า จะเป็นฤดูหนาว
ในวันศารทวิษุวัต ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ หลังจากวันนี้ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ จนถึงช่วงวันที่ 22 ธันวาคม จากนั้นจะเคลื่อนกลับทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในหนึ่งปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ประมาณวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม และ วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) วันที่ 22 หรือ 23 กันยายน
ข้อมูลจาก scimath.org #KasidateToday
Comments