top of page

รายงาน กาพย์เห่เรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร

  • รูปภาพนักเขียน: Kasidate
    Kasidate
  • 23 ส.ค. 2563
  • ยาว 3 นาที

อัปเดตเมื่อ 15 ก.ย. 2563




๑.เนื้อเรื่องย่อ

กาพย์เห่เรือสามารถ แบ่งเนื้อเรื่องได้เป็น ๒ ชุด คือ ชุดแรกเป็นบทเห่ชมพยุหยาที่ประกอบด้วย บทเห่ ชมเรือ บทเห่ชมปลา บทเห่ชมไม้ อีกชุดเป็นบทเห่กากี บทเห่ครวญ และบทเห่สังวาส พระเจ้าฟ้ากุ้ง ได้ดำเนินโดยทางชลมารคได้ประทับบนเรือในการเดินทางที่เรือกิ่งที่ดูงดงาม และเคลื่อนไหวอย่างอ่อนไหว พร้อมเพรียงกัน ขบวนเรือนั้นแน่นและเป็นระเบียบหัวเรือของหัวต่าง ๆ ประกอบด้วย รูปสัตว์ นานาชนิด สามารถมองเห็นธงได้จากระยะไกล เริ่มจากเรือครุฑที่บนเรือมีกำลังพลทหารกำลังพายเรือ พร้อมเปร่งเสียงโห่ร้องอย่าง พร้อมเพรียง เรือสรมุขลอยมาเหมือนดั่งวิมานบนสวรรค์ที่สวยงามกำลังเคลื่อน ผ่านเมฆ เรือสรมุขตกแต่งไปด้วยม่านสีทองหลังคาสีแดงมีลวดลายมังกรประดับอยู่ เรือสมรรถที่กำลังเคลื่อน ตัวมาอยู่ข้างเรือสรมุขประกอบด้วยกาบแก้วที่สะท้อนแสงกับแม่น้ำมีความงดงาม เหมือนกำลังร่อนลงจากฟ้าสู่พื้นดิน เรือสุวรรรณหงส์มีพู่ห้อยอย่างงดงามเปรียบดั่งหงส์ที่เป็นพาหนะของพระพรหม เรือชัยนั้นแล่น ด้วยความรวดเร็ว เรือคชสีห์ที่มีส่วนหัวเรือราชสีห์ที่แล่นมาเคียงกันนั้นดูมั่นคงแข็งแรง เรือม้านั้นแล่นไปข้างหน้าเหมือนกับม้าทรงของพระพาย เรือสิงห์ที่แล่นอย่างแข็งแรง เรือนาคที่ราวดูเหมือนจะมีชีวิต และกำลังโดนเรือมังกรแล่นตามทัน ส่วนเรืออินทรีย์มีปีกที่เหมือนกับกำลังจะลอยไปในอากาศ การเคลื่อนไหวของขบวนนั้นดูเข้มแข็งเปรียบเหมือนฝูงปลาที่ว่ายอยู่ในสายน้ำ ส่วนสุดท้ายของบทจึงเชื่อมโยงกับบทเห่ชมปลา บทเห่ชมปลา มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความรักและความอาลัยกับนางผู้เป็นที่รักที่ได้ขาดกันไปและการพรรณนา ปลาชนิดต่าง ๆ สัมพันธ์กับความงาม กิริยาท่าทาง การแต่งกายของนาง และมีความรู้สึกของกวีที่มีต่อนาง เริ่มจากปลานวลจันทร์สีนวลแต่ก็ยังไม่สวยเท่านางอันเป็นที่รักปลาเพียนทองมีสีดั่งสีทองแต่ก็ยังไม่งดงามเท่านาง ปลากระแหเปรียบเหมือนคนรักที่ต้องห่างจากไป ปลาแก้มเหมือนแก้มนางเมื่อได้รับคำชม ปลาทุกเหมือนอมทุกข์ไว้เหมือนพี่ที่จากน้องมา ปลาน้ำเงินมีสีเงินเปรียบเสมือนสีขาวผ่องแต่ก็ยังงามไม่เท่านางอันเป็นที่รัก ปลากรายเปรียบเหมือนความห่างจากผู้แต่งกวีกับนางผู้เป็นที่รัก ปลาสร้อยลอยอยู่ในน้ำ เหมือนผู้แต่งกวีไม่เห็นหน้านางผู้เป็นที่รักรู้สึกเศร้าใจแล้ว ปลาเนื้ออ่อนเปรียบถึงรูปร่างของนาง ปลาเสือเหลือที่ตาเลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง ปลาเสือ ปลาหอยแมลงภู่ทำให้นึกถึงเวลาได้อยู่กับนางผู้เป็นที่รัก ปลาสเกศทำให้นึกถึงเวลานางหวีผมและกลิ่นของผมที่มีความหอม บทเห่ชมไม้กระบวนเรือของเจ้าฟ้ากุ้งที่ได้แล่นอยู่บนแม่น้ำ ได้มีการชื่นชมดอกไม้ที่กำลังเบ่งบานส่งกลิ่นหอมมาตลอดทาง ๒ ดอกนางแย้มที่บานทำให้นึกถึงรอยยิ้มนางผู้เป็นที่รัก ดอกจำปาที่มีกลีบสีเหลืองนวล เปรียบเหมือนผิวของนางผู้เป็น ที่รักที่มีผิวสีเหลือง ดอกพุดที่บานมีดอกพิกุลแทรกอยู่ก็ส่งกลิ่นหอมจึงทำให้นึก ถึงกลิ่นของนางผู้เป็นที่รักที่เคยอยู่ร่วมกันมา ดอกสายหยุดกัดอกพุทธชาดทำให้นึกถึงมาลัยของนางผู้เป็นที่รักที่วางข้างหมอน ดอกพิกุลกับดอกบุนนาคที่บานส่งกลิ่นหอมเปรียบเหมือนคำหวานของนางผู้เป็นที่รักใช้เวลาอ้อน ต้นเต็ง ต้นแต้ว แก้วและดอกกาหลงต่างส่งกลิ่น หอมไม่รู้จบ เหมือนกลิ่นเสื้อผ้าของนางผู้เป็นที่รัก ดอกมะลิวัลย์ ดอกจิก ดอกจวง ทำให้นึกนางอันเป็นที่รัก ดอกลำดวน ดอกรำเพย ดอกไม้ที่สวยงาม หลากหลายพันธ์ทำให้พระองค์คิดถึงนางและหวังว่านางจะอยู่กับพระองค์ในตอนนั้น บทเห่ชมนก กวีกล่าวถึงเวลาพลบค่ำ มองดูนกที่บินกับเป็นฝูงแต่มีตัวหนึ่งที่พลัดหลงกับฝูงเปรียบเหมือน พระองค์ที่ต้องห่างจากนางผู้เป็นที่รัก และยังกล่าวถึงนกที่บินกลับรังเป็นคู่ ในบทมีการพูดถึงนกยูงแพน นกสาลิกา นกนางนวลที่งดงามผุดผ่องเหมือนนางผู้เป็นที่รัก นกแก้วเสียงเเจ่มแจ้ว ไก่ฟ้าที่เดี่ยวดาย นกแขกเต้าที่อยู่เป็นคู่บนต้นไม้ทำให้นึกถึงเวลากอดคนรักของพระองค์ นกดุเหว่าเปรียบเหมือนเสียงอันไพเราะของนาง บทสุดท้าย บทเห่ครวญกวีกล่าวถึงช่วงเวลา ยามค่ำไปจนถึงรุ่งเช้าพรรณนาถึงความทุกข์ที่เอาแต่คิดถึงแต่นางผู้เป็นที่รักและช่วงเวลาที่ต้องห่างจากกัน

๒. ประวัติผู้แต่ง

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศประสูติแต่กรมหลวงอภัยนุชิต (สมเด็จพระอัครมเหสีใหญ่ หรือพระพันวัสสาใหญ่) โดยพระมารดาของพระองค์สืบเชื้อสายมาจากสกุลพราหมณ์บ้านสมอพลือ ที่มีต้นสกุลมาจากเมืองรามนคร มัชฌิมประเทศ พระองค์ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๒๔๘ มีพระนามว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร พระองค์มีพระเชษฐภคินี ๑ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าบรม และพระขนิษฐา ๖ พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าธิดา เจ้าฟ้ารัศมี เจ้าฟ้าสุริยวงษ์ เจ้าฟ้าสุริยา เจ้าฟ้าอินทสุดาวดี (กรมขุนยิสารเสนี พระอัครมเหสีในพระองค์) นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเอกทัศ (สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์) และเจ้าฟ้าดอกเดื่อ (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) เมื่อสมเด็จพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ได้รับการสถาปนาให้ทรงกรมที่กรมขุนเสนาพิทักษ์

เนื่องจากเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนั้น ทรงสนิทกับสมเด็จพระราชบิดาในพระองค์อย่างมาก ทำให้พระองค์เกิดความระแวงขึ้น เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเกิดประชวรและเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้ามาทรงเยี่ยม พระองค์จึงตรัสให้พระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดไปนิมนต์เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เข้ามายังพระราชวังหน้า เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จมาถึง พระองค์ได้ใช้พระแสงดาบฟันเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ แต่ไม่ทรงได้รับบาดเจ็บเพียงถูกแต่ผ้าจีวรขาดเท่านั้น เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงเกรงพระราชอาญาแล้วจึงเสด็จไปยังตำหนักกรมหลวงอภัยนุชิต พระมารดาในพระองค์ หลังจากนั้น เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวและพระองค์ตรัสถามว่า เหตุใดผ้าจีวรจึงขาด เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์หยอกท่าน เมื่อเจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ถวายพระพรลาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวแล้ว กรมหลวงอภัยนุชิตได้เสด็จมาอ้อนวอนและตรัสว่าถ้าท่านไม่ช่วยในคราวนี้เห็นทีกรมขุนเสนาพิทักษ์คงสิ้น เจ้าพระกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์จึงตรัสว่าคงมีแต่ร่มกาสาวพัตรเท่านั้นที่จะช่วยได้ กรมหลวงอภัยนุชิตจึงพากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จออกผนวชทันทีที่วัดโคกแสง ในครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธกรมขุนเสนาพิทักษ์มาก มีพระราชดำรัสให้ค้นหาตัวจนทั่วพระราชวัง แต่พบเพียงพระองค์เจ้าชื่นและพระองค์เจ้าเกิดที่สมรู้ร่วมคิดเท่านั้น จึงมีพระราชดำรัสให้นำตัวทั้ง ๒ พระองค์ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์

เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๘๐ กรมหลวงอภัยนุชิตทรงพระประชวรหนักและได้ตรัสทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้กรมขุนเสนาพิทักษ์ซึ่งทรงผนวชอยู่นั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานอภัยโทษให้ หลังจากนั้น กรมหลวงอภัยนุชิตก็เสด็จสวรรคตลง ส่วนกรมขุนเสนาพิทักษ์ทรงลาผนวชและได้เข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดังเดิม

ในปี พ.ศ. ๒๒๘๔ พระราชโกษาปานบ้านวัดระฆังได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานให้สถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นประดิษฐานที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้ประชุมเสนาบดี เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสถาปนากรมขุนเสนาพิทักษ์ขึ้นเป็นกรมพระราช วังบวรสถานมงคล พร้อมกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าฟ้าอินทสุดาวดีทรงกรมที่กรมขุนยิสารเสนีและพระราชทานให้เป็นพระอัครมเหสีในกรมพระราชวังบวรฯ ด้วย

พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรทรงพระประชวรด้วยโรคสำหรับบุรุษและกลายไปเป็นพระโรคคชราด (โรคคุดทะราด) เป็นเหตุให้พระองค์ไม่สามารถเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวถึง ๓ ปีเศษ วันหนึ่งพระองค์มีพระบัณฑูรให้ตำรวจมานำตัวเจ้ากรม ปลัดกรม และนายเวรปลัดเวรของกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี มาถามความว่า เจ้ากรมนั้นเป็นแต่หมื่น เหตุใดจึงตั้งบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุน ซึ่งนับว่าทำสูงเกินว่าศักดิ์ จึงมีพระบัณฑูรให้ลงพระราชอาญาโบยหลังคนละ ๑๕ ทีบ้างคนละ ๒๐ ทีบ้าง

หลังจากนั้นไม่นาน กรมหมื่นสุนทรเทพทำเรื่องกราบทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นการลับว่า พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเสด็จเข้ามาลอบทำชู้กับเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์ถึงในพระราชวังหลายครั้ง สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสให้หาพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเพื่อนำตัวมาสอบความ เมื่อพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรรับเป็นสัจแล้ว จึงมีพระราชดำรัสลงพระราชอาญาเฆี่ยน แล้วให้เสนาบดีและลูกขุนพิพากษาโทษ ท้าวพระยามุขมนตรีและลูกขุนกราบบังคมทูลว่า โทษของพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรเป็นมหันตโทษขอพระราชทานให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยประเพณี สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสขอชีวิตไว้แต่ให้นาบพระนลาถแล้วถอดให้เป็นไพร่เสีย ส่วนเจ้าฟ้านิ่มและเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนองค์ละ ๓๐ ที พร้อมทั้งถอดเป็นไพร่เช่นกัน เจ้าฟ้าสังวาลย์อยู่ได้ ๓ วันก็สิ้นพระชนม์ ส่วนพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรต้องรับพระราชอาญาเฆี่ยนและเสด็จสวรรคต

พระองค์ได้เป็นกองการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดอื่น ๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้นั้นจัดเป็นวรรณกรรมอันเลอค่า โดยเฉพาะคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงดูจะมีมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ เช่น กาพย์เห่เรือบทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง (กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง) นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๗๙ ขณะทรงผนวช พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ.๒๒๘๐ ขณะทรงผนวช และเพลงยาวบางบท



๓. ความโดดเด่นในเชิงภาษา

๒.๑ รูปแบบคำประพันธ์

กาพย์เห่เรือจัดอยู่ในประเภทกวีนิพนธ์ รูปแบบกาพย์ห่อโคลง มีลักษณะการแต่งเป็นโคลง ๔ สุภาพ ๑ บท และกาพย์ยานี ๑๑ ไม่จำกัดจำนวนบท โดยใช้การบรรยายและพรรณนาเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพที่ชัดเจน ดังตัวอย่าง

รอนรอนสุริยโอ้ อัษฎงคต์

เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว

รอนรอนจิตต์จำนง นุชพี่ เพียงแม่

เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียว ฯ

เรื่อยเรื่อยมารอนรอน ทิพากรจะตกต่ำ

สนธยาจะใกล้ค่ำ คำนึงหน้าเจ้าตาตรู

เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่

ตัวเดียวมาพลัดคู่ เหมือนพี่อยู่ผู้เดียวดาย

(กรมศิลปากร, ๒๕๐๓, น.๖)

๒.๑.๑ ภาษา

ด้านการใช้ภาษา วรรณคดีเรื่องนี้ กวีเลือกใช้คำเฉพาะ เรียกส่วนประกอบต่าง ๆ ในเรือ สัตว์ ต้นไม้ดอกไม้ และชื่อนก ดังตัวอย่าง

เรือม้าหน้ามุ่งน้ำ แล่นเฉื่อยฉ่ำลำระหง

เพียงม้าอาชาทรง องค์พระพายผายผันผยอง

เรือสิงห์วิ่งเผ่นโผน โจนตามคลื่นผืนฝ่าฟอง

ดูยิ่งสิงห์ลำพอง เป็นแถวท่องล่องตามกัน

(กรมศิลปากร, ๒๕๐๓, น.๒)

หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน

คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอิ่ยมไร

ปลาสร้อยลอยล่องชล ว่ายเวียนวนปนกันไป

เหมือนสร้อยทรงทรามวัย ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย

(กรมศิลปากร, ๒๕๐๓, น.๔)

๒.๑.๒ โวหาร

กาพย์เห่เรือนี้ มีความโดดเด่นด้านการใช้โวหาร ดังนี้

๒.๑.๒.๑ ตัวอย่าง อุปนัย เช่น

ปลาเสือเหลือที่ตา เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง

เหมือนตาสุดาดวง ดูแหลมล้ำขำเพราคม

(กรมศิลปากร, ๒๕๐๓, น.๔)

นางนวลนวลน่ารัก ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน

แก้วพี่นี้สุดนวล ดังนางฟ้าหน้าใยยอง

(กรมศิลปากร, ๒๕๐๓, น.๖)

ดุเหว่าเจ่าจับร้อง สนั่นก้องซ้องเสียงหวาน

ไพเราะเพราะกังวาล ปานเสียงน้องร้องสั่งชาย

โนรีสีปานชาด เหมือนช่างฉลาดวาดแต้มกาย

ไม่เท่าเจ้าโฉมฉาย ห่มตาดพรายกรายกรมา

(กรมศิลปากร, ๒๕๐๓, น.๗)

๒.๒ เนื้อหา

เนื้อหาในเรื่อง กาพย์เห่เรือ แบ่งออกเป็น ๔ ตอน ได้แก่

ตอนที่ ๑ เห่ชมเรือกระบวน กวีกล่าวถึงส่วนต่าง ๆ ของเรือ เพื่อชมความงามและประสิทธิภาพของเรือ

ตอนที่ ๒ เห่ชมปลา กวีกล่าวถึงปลาพันธุ์ต่าง ๆ และใช้ปลาในการเปรียบเปรยกับนางอันเป็นที่รัก

ตอนที่ ๓ เห่ชมไม้ กวีกล่าวถึงต้นไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์ และใช้เปรียบเปรยกับนางอันเป็นที่รัก

ตอนที่ ๔ เห่ชมนก กวีกล่าวถึงนกพันธุ์ต่าง ๆ และใช้เปรียบเปรยกับนางอันเป็นที่รัก

๒.๒.๑ ตัวละคร

ในเรื่องนี้ ปรากฏคน ซึ่งเป็นคนจริง ได้แก่ ตัวกวี(ผู้ชาย) และกวีพูดถึงหญิงอันเป็นที่รัก ว่าเจ้าบ้าง น้องบ้าง โดยกวีสร้างลักษณะนิสัยของคนให้เหมือนจริง สมจริง แสดงออกซึ่งความรักและความคิดถึงต่อนางอันเป็นที่รัก ในการสร้างตัวละครนั้น กวีเลือกประเภทตัวละคร คือตัวละครที่เป็นธรรมชาติ โดยแนวการสร้างตัวละคร กวีใช้การสร้างโดยสมมุติให้มีลักษณะเหมือนคนหรือแสดงกิริยาเหมือนคน โดยวิธีการสร้างตัวละคร กวีใช้การบรรยายและพรรณนาถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร

๒.๒.๒ ฉาก สถานที่

สถานที่ที่ปรากฏในกาพย์เห่เรือ กวีใช้สถานที่จริง ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่ระหว่างการเดินทางของกวี คือ ริมท่าสาคร ในส่วนของเวลานั้นไม่ได้ใช้คำบอกเวลาที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานได้จากคำที่กวีใช้ (รอนรอนสุริยโอ้ อัสฏงคต์) ดังตัวอย่าง

รอนรอนสุริยโอ้ อัษฎงคต์

เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง ค่ำแล้ว

รอนรอนจิตต์จำนง นุชพี่ เพียงแม่

เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียวฯ

(กรมศิลปากร, ๒๕๐๓, น.๖)

ส่วนการสร้างฉากนั้น กวีบรรยายสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่จริงมาใช้ ส่วนเวลานั้น กวีไม่ได้ใช้คำบอกเวลาแต่บรรยายช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ตกดินแทน

๒.๒.๓ การลำดับเหตุการณ์

การลำดับเหตุการณ์ในเรื่อง กวีเปิดเรื่องด้วย โคลง ๔ จำนวน ๑ บท เกริ่นนำเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไพร่พล กระบวนเรือ และบรรยายกระบวนเรือ การดำเนินเรื่อง กวีใช้วิธีเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เป็นลำดับ โดยเริ่มตั้งแต่บรรยายพรรณนากระบวนเรือ จากนั้นจึงเป็นการเปรียบเปรยสิ่งต่าง ๆ กับความคิดถึงนางอันเป็นที่รัก และการปิดเรื่อง กวีปิดเรื่องด้วยบทเห่ชม พรรณนาถึงนกที่พบเพื่อเปรียบกับนางอันเป็นที่รัก

๒.๓ แนวคิด

แนวคิดในเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการบรรยายพรรณนากระบวนเรือ การชมสัตว์ และชมธรรมชาติ ส่วนแนวคิดย่อย ได้แก่ การคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รัก

๑.๔ การวิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ

คุณค่าที่ได้รับจาก กาพย์เห่เรือ มีดังนี้

๒.๔.๑ คุณค่าทางปัญญา

วรรณคดีเรื่องนี้ให้ความรู้ต่างๆ ทั้งความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของเรือ ปลาพันธ์ต่าง ๆ ต้นไม้ ดอกไม้ และประเภทของนก ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ลักษณะของสัตว์และของพืชมากยิ่งขึ้น

๒.๔.๒ คุณค่าทางอารมณ์

เมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้เห็นอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เศร้า อารมณ์ฮึกเหิม เป็นต้น

๒.๔.๒.๑ ตัวอย่าง อารมณ์รัก เช่น

สาวหยุดพุทธชาด บานเกลื่อนกลาดดาษดาไป

นึกน้องกรองมาลัย วางให้พี่ข้างที่นอน

(กรมศิลปากร, ๒๕๕๓, น. ๕)

๒.๔.๒.๒ ตัวอย่าง อารมณ์เศร้า เช่น

ไก่ฟ้ามาตัวเดียว เดินท่องเที่ยวเลี้ยวเหลี่ยมเขา

เหมือนพรากจากนงเยาว์ เปล่าใจเปลี่ยวเหลียวหานาง

(กรมศิลปากร, ๒๕๕๓, น. ๗)

๒.๔.๒.๓ ตัวอย่าง อารมณ์ฮึกเหิม เช่น

นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร

เรือริ้วทิวธงสลอน สาครลั่นครั่นครื้นฟอง

เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง

พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา

(กรมศิลปากร, ๒๕๕๓, น. ๑)

๒.๔.๓ คุณค่าทางวัฒนธรรม

วัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในเรื่อง คือ ประเพณี พิธีกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการเสด็จทางชลมารค ต้องมีการจัดเตรียมไพร่พล กระบวนเรือต่าง ๆ ให้พร้อมสรรพ และถูกต้องตามประเพณี

๒.๔.๔ คุณค่าทางประวัติศาสตร์

วรรณคดีเรื่องนี้ได้บันทึกประเพณีในอดีตซึ่งเป็นการเสด็จทางชลมารคไว้อย่างค่อนข้างครบถ้วน ทำให้คนรุ่นหลังได้รู้และเข้าใจในประเพณีดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

๒.๔.๕ คุณค่าทางวรรณศิลป์

๒.๔.๕.๑ การเล่นคำ

กวีชอบใช้คำซ้ำเพื่อย้ำความ นำคำพ้องรูปพ้องเสียงมาใช้ เพื่อสร้างความไพเราะ อีกทั้งยังมีการใช้สัมผัสใน ได้แก่ สัมผัสสระและสัมผัสอักษร

๒.๔.๕.๑.๑ ตัวอย่าง การใช้คำซ้ำ เช่น

นางนวลนวลน่ารัก ไม่นวลพักตร์เหมือนทรามสงวน

แก้วพี่นี้สุดนวล ดั่งนางฟ้าหน้าใยยอง

(กรมศิลปากร, ๒๕๕๓, น. ๗)

๒.๔.๕.๒ น้ำเสียง

ในเรื่องนี้ ปรากฏน้ำเสียง ดังนี้

๓.๔.๕.๒.๑ ตัวอย่าง น้ำเสียงแห่งความรัก เช่น

ชมดวงพวงนางแย้ม บานแสล้มแย้มเกสร

คิดความยามบังอร แย้มโอษฐ์ยิ้มพริ้มพรายงาม

(กรมศิลปากร, ๒๕๕๓, น. ๕)

บรรณานุกรม



กรมศิลปากร. (๒๕๐๓). ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของ สกสค. แพรวา กอบเกื้อกูลและคณะ. (๒๕๕๙). การอ่านและพิจารณาวรรณคดีเรื่อง กาพย์เห่เรือ. (ออนไลน์). สืบค้นจาก : http://mmildmilds.weebly.com/uploads/6/1/3/1/61314513/กาพย์เห่ เรือ.pdf. วันที่สืบค้นข้อมูล : ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๓. มณี โรจน์โกวิทและคณะ. (ม.ป.ป.). เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์. (ออนไลน์). สืบค้นจาก : https://spermrung.wordpress.com/เทศกาลและประเพณี. วันที่สืบค้นข้อมูล : ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๓. ศุภศิริ บุญประเวศ. (๒๕๖๐). บทที่ 8 การศึกษาวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลาย. (ออนไลน์). สืบค้น จาก : http://wannakade.blogspot.com/2017/05/8.html วันที่สืบค้นข้อมูล : ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๓. โอภาส จอมสายศรี. (๒๕๕๗). เอกสารประกอบการสอน เรื่อง กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้า. (ออนไลน์). สืบค้น จาก : https://kruopas.files.wordpress.com. วันที่สืบค้นข้อมูล : ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๓.


 
 
 

Comments


bottom of page